ระเบียบวาระที่   ๔    เรื่องเสนอเพื่อทราบ
                            ๔.๔    รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
สรุปเรื่อง  
 
                    สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ขอแจ้งรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ ๒๓๖-๒๓๗/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๙ เรื่อง การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเพศ กรณีกล่าวอ้างว่านิสิตนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือวิถีทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิดถูกบังคับให้ไว้ทรงผมและแต่งกายตามเพศกำเนิดในการเข้าเรียน การเข้าสอบวัดผล การฝึกปฏิบัติงาน และการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
                    โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๔๔/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ มีมติว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งเพศและให้มีแนวทางการแก้ไขการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๒๘ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ เสนอต่อผู้ถูกร้องที่ ๑ (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) ผู้ถูกร้องที่ ๒ (มหาวิทยาลัยพะเยา)  ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขกรณีตามคำร้องเรียนภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ดังนี้
                    ๑.  เห็นควรให้ผู้ถูกร้องที่ ๑  ผู้ถูกร้องที่ ๒  ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พิจารณาแก้ไขหรือกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ ข้อบังคับหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งกายในการเข้าเรียน การเข้าสอบวัดผล การฝึกปฏิบัติงาน และการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของนิสิตนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือวิถีทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด ให้เป็นไปตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ และสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
                    ๒.  เห็นควรให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.)และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติงานเสริมสร้างความเข้าใจและเร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอันจะนำมาซึ่งการปฏิบัติอย่างเสมอภาคต่อนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในสถาบันอุดมศึกษา โดยเคารพต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวและปราศจากการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘
                    จึงนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
 
 
กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
-
 
ประเด็นเสนอเพื่อทราบ
 
 
มติคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย